วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Time out ลงโทษแบบสงบแต่สยบลูกน้อยอย่างได้ผล

Time out ลงโทษแบบสงบแต่สยบลูกน้อยอย่างได้ผล




time out คืออะไร

Time out  คืออะไร

ผศ.นพ.วิฐารณ บุญสิทธิ  กล่าวถึง  Time out ไว้ดังนี้ Time out คือ การแยกเด็กออกจากสิ่งกระตุ้นหรือความสนใจจากสิ่งรอบข้างชั่วคราว เพื่อให้เขาสงบและควบคุมตนเองได้ เรียกว่า เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็กได้สงบสติอารมณ์ แต่ไม่ใช่การกักขังลูกในห้องอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่ใช่การ Time out เพราะการกระทำเช่นนี้ ยิ่งกระตุ้นอารมณ์ด้านลบ  อารมณ์โกรธ  โมโหของเด็กให้พลุ่งพล่านออกมามากกว่า และอาจมีผลเสียอื่น ๆ ตามมาด้วย
เด็กในวัยใดสามารถใช้วิธี Time out ได้

วิธี การนี้เหมาะที่จะใช้กับเด็กในช่วงอายุ 2 – 3  ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มรู้จักการรักษากฎต่าง ๆ วิธีการดูว่าลูกรู้จักการ รักษากฎแล้วหรือยัง  เช่น  ดูว่าลูกสามารถจับผิดพ่อแม่เมื่อพ่อแม่ไม่ทำตามกฎที่ครอบครัวไว้ เช่น ถ้าพ่อแม่ห้ามกินขนมบนที่นอนหากลูกมาเห็นพ่อแม่กินอยู่แล้วพูดว่า “แม่กินขนมบนที่นอนไม่ได้ ” นั่นแสดงว่าลูกรู้จักกฎและการรักษากฎแล้ว  เป็นต้น

สำหรับเด็กอายุ 2 ขวบ ควรเริ่มจากระยะเวลาสั้น ๆ เช่นประมาณ 30  วินาที หรือ  1 นาที ระยะเวลาที่เหมาะสมอาจจะดูเป็นกรณีไป เวลาที่ดีควรเป็นเวลาที่พอประมาณ ให้เด็กสามารถสงบสติอารมณ์ได้
สิ่งสำคัญต้องให้เด็กรู้เหตุผลในการ Time out

เมื่อ ครบเวลาควรทบทวนกับเด็กสั้น ๆ ว่าเขาต้องอยู่ใน Time out  เพราะเหตุใด เช่น “พ่อให้หนูนั่งสงบตรงนี้เพราะหนูขว้างของ คราวหลังถ้าหนูโกรธก็บอกได้นะไม่ต้องขว้างของ ตอนนี้หนูใจเย็นแล้วไปเล่นต่อได้” แล้วให้เด็กไปมีกิจกรรมอื่น ๆ ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงการสอนที่ยาวหรือการพูดตำหนิติเตียน
ถ้าลูกไม่ยอมอยู่ใน Time out พ่อแม่ต้องทำอย่างไร

แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

1. ถ้าเด็กไม่ยอมนั่งสงบ พ่อแม่ควรจับตัวเด็กให้นั่งบนเก้าอี้ที่กำหนดไว้ โดยจับทางข้างหลังเก้าอี้แล้วรวบแขน 2 ข้างของเด็กกอดไว้ เมื่อเด็กเริ่มสงบจึงปล่อยแขนแล้วเริ่มจับเวลา เด็กอาจต่อต้านในระยะแรก แต่ถ้าปฏิบัติอย่างเอาจริงและสม่ำเสมอ เด็กก็จะยอมตามในที่สุด พ่อแม่ควรพูดชมเด็กเมื่อเขายอมนั่งและสงบลงได้

2. ในบางกรณีเด็กอาจจะแสดงท่าทีว่าไม่เดือดร้อนเมื่อพ่อแม่ให้อยู่ใน Time out เช่น อาจแสดงสีหน้ายั่วยวน หรือพูดท้าทายว่าไม่สนใจ นั่นไม่ได้แปลว่าเด็กไม่เดือดร้อนจริง ๆ สิ่งสำคัญ คือ การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอของพ่อแม่  เมื่อเด็กได้รับการ Time out  เขาจะเรียนรู้ที่จะสงบอารมณ์ได้ในที่สุด
ก่อน Time out พ่อแม่ต้อง Time in  ก่อน

คำแนะนำของผศ.นพ.วิฐารณ บุญสิทธิ  ที่ว่า ก่อน Time out พ่อแม่ต้อง Time in ก่อน  คือ

1. การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของเด็กจะไม่ได้ผลเลย ถ้ามัวแต่เพ่งเล็งที่พฤติกรรมที่ไม่ดีเพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้ความสนใจพฤติกรรมที่ดี

2. หากพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกเพียงพอ หรือในเวลาปกติที่เขากำลังเล่นดี ๆ อย่างสงบ แต่จะตอบสนองต่อเมื่อลูกสร้างปัญหา เมื่อเขาร้องโวยวาย ขว้างปาของ หรือทะเลาะกันเท่านั้น ปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ

3. พ่อแม่ต้องพยามให้ความสนใจเด็กอย่างต่อเนื่องในเวลาปกติที่อาจเรียกว่า Time in ซึ่งอาจทำได้ด้วยวิธีการอยู่ใกล้ ๆ เด็ก แตะตัว โอบไหล่ พยักหน้าหรือยิ้มให้เป็นระยะ ๆ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดีเขาจะได้ไม่รู้สึกว่าพ่อแม่จะสนใจเขาต่อเมื่อเขาทำ ผิดเท่านั้น  หรือคิดว่าพ่อแม่พยายามจับผิดตนเองตลอดเวลา

4. เมื่อเขามีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พ่อแม่ก็ควรช่วยให้เขาพยายามควบคุมตนเองด้วยการเบี่ยงเบนพฤติกรรมความสนใจ ออกจากสิ่งที่ไม่เหมาะสม เด็กจะไม่รู้สึกว่าตนเองถูกบังคับ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในความรักของพ่อแม่   และในคุณค่าของตนเอง ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างมีสุขภาพจิตที่ดีต่อไป

คำแนะนำการ Time out ให้ได้ผล




พญ.สุธีรา  เอื้อไพโรจน์กิจ  กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ได้แนะนำการทำ Time out   ลูกอย่างได้ผล ไว้ดังนี้

1. เน้น Time in ก่อน Time out เป็นลักษณะของการนำพลังด้านบวกมาเสริมแรงให้แก่ลูก ลูกควรได้รับการ Time in ก่อนอย่างเพียงพอมากกว่าที่จะได้รับการ Time out เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะรักษาพฤติกรรมดี ๆ ไว้มากกว่าการถูกทำโทษ

2. ต้อง Time out ทันทีที่ลูกทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ หรือไม่เหมาะสม ลูกจะได้เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่ Time out ตนเองเพราะสาเหตุใด และที่สำคัญการ Time out ควรใช้เวลาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น เพื่อให้ดูจริงจัง และจะทำให้เด็กเข้าใจว่าการกระทำของตนไม่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น

3. บริเวณเงียบสงบ คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกบริเวณในการทำ Time out เป็นส่วนที่แยกจากบริเวณที่มีการทำกิจกรรม ไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลาง แต่เป็นมุมห้องที่คุณยังสามารถเห็นว่าลูกกำลังทำอะไร ลูกต้องนั่งบนเก้าอี้จนกว่าคุณจะบอกว่าหมดเวลา ถ้าเวลานานเกินไป เด็กเล็ก ๆ จะลืมว่า ทำไมถึงถูก Time out ถ้าลูกลุกก่อนถึงเวลาจะต้องเริ่มต้นใหม่

4. คำพูดเป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่ไม่ควรพูดให้ลูกรู้สึกไม่ดีเมื่อเวลาเขาต้องถูก Time out  พ่อแม่นั้นต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง  อย่าขึ้นเสียง  อาจใช้คำพูด เช่น  “หยุดก่อนนะลูก พักสัก 1 นาที  ลูกจะได้ใจเย็นลงแล้วเรามาคุยกันใหม่นะ” เป็นการสงบสติอารมณ์เจ้าตัวน้อย  และพ่อแม่เองจะได้มีเวลาสักนิดเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา

5. โอบกอด หลังจาก Time out แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่กอดลูกเพื่อให้ลูกมั่นใจว่าคุณรักเขามากนะ เพียงแต่การที่ลูกทำพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เหมาะสมนะจ๊ะ ไม่ควรทำก็เท่านี้เอง

สรุป  การลงโทษที่ได้ผล มีหลักการว่าเด็กที่ถูกทำโทษ ต้องได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญของชีวิตว่า ทุกสิ่งที่ได้กระทำ ย่อมมีผลตามมาเสมอ

จะเห็นว่าวิธีการทำโทษก็มี ด้านบวก  นอกจากการตี การดุว่า อาจทำให้เด็กหยุดพฤติกรรมเพียงชั่วคราว แล้วเขาก็จะกลับมาทำผิดได้อีก  อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลากับลูกอย่างเพียงพอ ให้ความ  ความเข้าใจ  และการให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ สอนทัศนคติในเชิงบวกให้แก่ลูก  เพื่อให้ลูกได้มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีพฤติกรรมที่ดีปลูกฝังติดตัวของเขาต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

http://www.taiwisdom.org

http://women.kapook.com

https://www.facebook.com/SuthiRa

CR : Theasianparent

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น